11 ส.ค. 2566
วันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม 2566 คณะสถาปัตยกรรมศาสตรและศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา จัดพิธีไหว้ครูสล่าและไหว้ครูพื้นเมือง (ไหว้ครูกิ๋นอ้อผะญา) เพื่อให้นิสิตได้แสดงความเคารพนอบน้อม และความกตัญญูกตเวทิตาต่อครูอาจารย์ สืบทอดประเพณี ส่งเสริม อนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมด้านการไหว้ครูแบบล้านนา โดยมีการเดินขบวนเครื่องสักการะ พานไหว้ครู เครื่องพิธีไหว้ครู หน้ากากสัตว์มงคลจากวัสดุกระดาษรีไซเคิลของสำนักงาน มายังลานจัดพิธีอาคารปฏิบัติการคณะสถาปัตยกรรมศาสตรและศิลปกรรมศาสตร์
การแสดงในพิธีไหว้ครูสล่าและไหว้ครูพื้นเมือง อาทิ การแสดงกลองทัด โดยนิสิตสาขาสถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมภายใน ฟ้อนเล็บพะเยา การแสดงฟ้อนขันดอก พิธีบูชาครู โดยนิสิตชั้นปีที่ 2 ทุกหลักสูตร การแสดงไหว้สาบูชาบายศรี โดยนิสิตหลักสูตรดนตรีและนาฎศิลป์ การฟ้อนรำวงบานศรี เชิญประธานและผู้มีเกียรติร่วมฟ้อน เป็นต้น
พิธีไหว้ครูสล่าและไหว้ครูพื้นเมือง (ไหว้ครูกิ๋นอ้อผะญา) เป็นประเพณีของชาวล้านนาที่นิยมปฏิบัติมาแต่โบราณ การกิน อ้อผญา คือ พิธีกรรมของคนล้านนา เมื่อจะมีการเรียนวิชาคาถาอาคมหรือเรียนวิชาการต่าง ๆ จะมีการกินอ้อผญา เพื่อให้บังเกิดสติปัญญาและความจำในการเรียนวิชานั้น
ต้นอ้อ ต้นไม้ที่ชอบขึ้นในพื้นที่ชั้นแฉะ ลำต้น เป็นปล้องแข็ง ใบเรียวเหมือนต้นแขมหรือหญ้าคา มีดอกสีขาว เวลาบานจะเป็นปุยนุ่นแผ่กระจายสวยงามแพร่พันธุ์และแตกกอได้ง่าย ตายยาก
คำว่า อ้อ อ่องอ้อ เป็นคำที่หมายถึง สติปัญญา มันสมอง บนขัน (พาน) ทอง และชันโตก คืออ้อผญา เป็นการแสดงถึงความเคารพ ความกตัญญูรู้คุณ ระลึกถึงบุญคุณของครูและเป็นการแสดงตนว่า ขอเป็นศิษย์ และเพื่อสร้างสายสัมพันธ์อันดีระหว่างอาจารย์กับนิสิตชั้นปีที่หนึ่งที่เริ่มเข้ามาเป็นนิสิตในชั้นปีแรก และให้เป็นสิริมงคลกับนิสิตเองในพิธี ซึ่งถือเป็นประเพณีสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตรและศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
ผู้เยี่ยมชม: 1223 ครั้ง
หมวดหมู่: ข่าวประชาสัมพันธ์
ภาพ: สันติ ศิริคชพันธุ์
ข้อมูล/ข่าว: กมลวิชญ์ พรหมเผ่า