พิธีไหว้ครูสล่าพื้นเมือง กิ๋นอ้อผญาล้านนา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้จัดพิธีไหว้ครูสล่าพื้นเมือง กิ๋นอ้อผญาล้านนา ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.วุฒชัย ไชยรินคำ รองคณบดีฝ่ายคุณภาพนิสิตเป็นประธานในพิธีเปิดงาน ตามด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัมเรศ เทพมา คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์
ซึ่งในงานพิธีดังกล่าวได้มีการแสดงแห่ขบวนนิสิตแต่ละสาขา และนิสิตได้มีการจัดเสลี่ยงแต่ละสาขา ซึ่งเสลี่ยงแต่ละสาขานั้นจะมีความโดดเด่นแตกต่างกันไปตามแต่ละหลักสูตร และมีโลโก้ประจำหลักสูตรประกอบอยู่ด้วย และในพิธีดังกล่าวได้มีการขับลื้อถวายครูสล่า โดย พ่อครูวิชัย ศรีจันทร์ เป็นช่างขับ พ่อครูประเทือง กองมงคล เป็นช่างปี่ ซึ่งพ่อครูทั้งสองท่านมาจากกลุ่มชาติพันธืไทลื้ออำเภอเชียงคำเป็นครูภูมิปัญญาที่ได้นำองค์ความรู้ทางด้านศิลปะการแสดงแสดงกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อมาพัฒนาและสร้างสรรค์ร่วมกับอาจารย์และนิสิตภายในคณะ ตามด้วยการฟ้อนบายศรีสู่ขวัญ กิจกรรมผูกแขนรับขวัญ การกิ๋นอ้อผญา ตามด้วยการแสดงกลองทัด โดยนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปะกรรมศาสตร์ การแสดงผู้นำเชียร์และมอบเกียรติบัตรแก่นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปะกรรมศาสตร์ และปิดท้ายด้วยความสนุกสนาน ความบันทึกผ่านเสียงดนตรีและรำวง บรรเลงโดยวงดนตรีจากนิสิตภายในคณะฯ
พิธีกินอ้อผญาคือพิธีกรรมของชาวล้านนา ขะจัดเมื่อจะมีการเรียนวิชาการต่างๆ หรือเรียนวิชาคาถาอาคม อาจารย์ผู้สอนจะทำพิธีเสกอ้อผญาเพื่อให้ผู้เรียนเกิดสติปัญญาและความจำในการเรียนวิชานั้น อ้อคือกระบอกไม้อ้อความยาวราว ๓ ข้อนิ้วของผู้ที่จะกินอ้อผญาแล้วบรรจุน้ำผึ้ง ผญา คือปัญญานั่นเอง เมื่อทำพิธีเสกอ้อแล้วจะนำกระบอกอ้อตั้งจิตอธิษฐานให้มีสติปัญญาดี ความจำเป็นเลิศและประสบความสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียนแล้วขบ(กัด)ให้กระบอกอ้อแตก ดื่มน้ำผึงจนหมดแล้วโยนกระบอกอ้อนั้นข้ามศีรษะไปด้านหลังทางช่องประตู หน้าต่าง(ป่อง)หรือลงน้ำล่องไป โดยถือเอาเคล็ดว่าคิดอันใดให้ขบคิดให้แตก ทะลุปรุโปร่ง เรียนโดยไม่มีอุปสรรคขัดขวางนั่นเอง ในสมัยโบราณเชื่อกันว่าผู้ที่ผ่านพิธีนี้จะมีสติปัญญาเฉียบแหลมสามารถเรียนรู้ได้รวดเร็วและจดจำได้มากรวมไปถึงเชิงวาทศิลป์และมีเสน่ห์ในการแสดงอีกด้วย